สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย)สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าค่อนข้างสูง นักท่องเที่ยวที่ชอบในเรื่องการอนุรักษ์ต้องไปเยือนให้ได้
ความเป็นมา
สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) แต่เดิมชื่อ สวนรุกขชาติทุ่งค่าย เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2529 โดยกรมป่าไม้ ตามนโยบายของนายชวน หลีกภัย (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 และเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้ – สัตว์ป่า และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทั่วไป
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้พัฒนายกฐานะเป็น สวนพฤกษศาสตร์ และมี ศ.ดร.เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ เป็นประธาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับปรุงระบบราชการ (ทุ่งค่าย) จังหวัดตรัง มาสังกัดสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 20 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
หากเอ่ยถึงพื้นที่ป่าไม้ ทุกคนคงนึกถึงผืนป่าใหญ่กว้างขวาง มีเทือกเขาทอดตัวเป็นแนวยาว หรือมีเขาสูงเตี้ยสลับกันไป แต่(ทุ่งค่าย) สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เป็นต้นน้ำของลำห้วยเล็ก ๆ ลักษณะป่าจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าพรุ และทุ่งหญ้า เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่แวดล้อมด้วยชุมชมเล็ก ๆ โดยรอบ จึงกล่าวได้ว่าเป็นเมือง (ชุมชน) ล้อมป่า มิใช่ป่าล้อมเมืองเฉกเช่นผืนป่าโดยทั่วไป ในอดีตผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน มีชาวบ้านเข้าไปหาของป่า ทั้งสัตว์ป่า พืชผัก และผลไม้ป่า
สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) เดิมที่เป็น สวนรุกขชาติทุ่งค่าย มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน จำแนกตามประเภทของพันธ์ไม้แยกได้ ดังนี้…
สวนอนุกรมวิธาน : แหล่งรวบรวมพันธุ์พืชถิ่นใต้
สวนสัณฐานวิทยา : แหล่งเรียนรู้ลักษณะต่าง ๆ ของพืช
สวนกล้วยไม้ : สวนรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ต่าง ๆ
สวนพืชทนแล้ง : แหล่งรวมพืชที่ปรับตัวได้
สวนพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน : สวนรวมการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากพืช
สวนรวมพรรณไม้แห่งความรัก : พื้นที่ปลูกต้นไม้ของคู่รัก ที่เข้าร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร
สวนเฟิร์น
พืชกินแมลง
พืชวงศ์ปาล์ม
พืชวงศ์ยาง
อีกทั้งยังจัดให้มีเส้นทางเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณโดยรอบ และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ คือ เส้นทางสะพานศึกษาเรือนยอดไม้ แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ โดยสะพานมีความยาว 175 เมตร ความสูง 3 ระดับ ตั้งแต่ 10 – 18 เมตร ประกอบด้วย 5 ช่วงสะพาน และ 6 หอคอย
เส้นทางนี้สามารถมองเห็นป่าไม้ในระยะใกล้ชิดอีกมุมมองหนึ่ง และได้สัมผัสกับธรรมชาติของสังคมพืชระดับเรือนยอดไม้ ของต้นไม้สูง ๆ ได้อย่างชัดเจนในระดับสายตา ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก และผล รวมถึงเห็นสัตว์ป่าจำพวกนก กระรอก กระแต ลิง ค่าง โดยไม่ต้องแหงนหน้าขึ้นฟ้าแล้วใช้กล้องส่อง
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย) ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง 92149 โทรศัพท์ 0 7528 0166